รับมืออย่างไร เมื่อผู้ป่วยติดสารเสพติดมีอาการลงแดง
การเลิกสารเสพติดเป็นสิ่งที่ดี แต่การหักดิบหรือการหยุดสารเสพติดกะทันหันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เมื่อร่างกายได้รับสารเสพติดบางอย่างเป็นเวลานาน การหยุดใช้สารอย่างกะทันหัน ส่วนใหญ่มักเกิดอาการของ “การถอนยา” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “อาการลงแดง” ประเภทและระยะเวลาของการใช้สารเสพติดก็ส่งผลต่อ “อาการลงแดง” แตกต่างกัน (ขึ้นกับปริมาณ ประเภท ความถี่ และระยะเวลาที่ใช้สารเสพติด) แต่ส่วนใหญ่มักเกิดอาการเหล่านี้
• ด้านร่างกาย :ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว ปวดท้อง มวนท้อง กระสับกระส่าย รู้สึกไม่สบายตัว อยู่ไม่เป็นสุข
• ด้านจิตใจ : หงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ เปรี้ยวปากมีความอยากใช้สารเสพติด และอาการทางจิต
วิธีการรับมือกับผู้ป่วยที่มี “อาการลงแดง” ไม่รุนแรง
1. #ยอมรับและเข้าใจ อันดับแรก ต้องยอมรับก่อนว่าผู้ป่วย คือ ผู้ที่ติดสารเสพติด และเข้าใจว่า “อาการลงแดง” ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในผู้ที่หยุดสารเสพติด
2. #อยู่เป็นเพื่อน ผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวลหรือความเครียดกับ “อาการลงแดง” ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอาจนึกถึงการใช้สารเสพติด ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่ต้องมีคนอยู่ข้างๆ เพื่อเตือนสติ และรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เผชิญความทุกข์ทรมานคนเดียว
3. #หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น การจัดห้อง จัดบ้าน พบปะผู้คน หรือพาผู้ป่วยไปสถานที่ใหม่ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่นึกถึงการใช้สารเสพติด
4. #หากิจกรรมทำ ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สนุกสนาน หรือกิจกรรมที่ชอบ จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจผู้ป่วยออกจากการนึกถึงสารเสพติด และยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
5. #คำพูดและกำลังใจดีๆ “เป็นกำลังใจให้นะ” “เรารับรู้ถึงความพยายามของคุณ” “ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี” “เราอยู่ข้างๆ นะ” คำพูดเหล่านี้ ล้วนเป็นการให้กำลังใจดีๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
หากผู้ป่วยมีอาการทางจิต ภาวะแทรกซ้อนทางด้านร่างกายที่รุนแรง ญาติไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสารเสพติดได้อย่างปลอดภัย... ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์