ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
เป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ มักพบในผู้สูงวัยมีผลต่อความจำ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านของอารมณ์และพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการดำรงชีวิต
ทราบได้อย่างไรว่ามีอาการสมองเสื่อม
- อาการหลงลืมเรื่องราวที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ไม่นานในขณะที่ความจำเรื่องในอดีตจะยังดีอยู่
- ผู้ป่วยอาจถามหรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไป หรือวางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้
- สับสนเรื่องราว วันเวลา สถานที่ หลงทิศทาง นึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิดๆ
- มีอารมณ์ พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- การตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งอาการเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงช้าๆ จนเกิดปัญหาต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถเดิม การศึกษา และหน้าที่เดิมของผู้ป่วย รวมถึงความช่างสังเกต เอาใจใส่ของญาติด้วย
อาการทางจิตและพฤติกรรมผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม
1. ความคิดหลงผิด
2. ประสาทหลอน
3. กระสับกระส่าย / ก้าวร้าว
4. ความไม่ยับยั้งชั่งใจ
5. อารมณ์ร่าเริงเกินเหตุ / ครึ้มใจ
6. หงุดหงิด / อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
7. ซึมเศร้า / ละเหี่ยใจ
8. ความวิตกกังวล
9. ความเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว / ไร้อารมณ์
10. ความอยากอาหารและการกินที่ผิดปกติ
11. การนอนหลับปัญหาพฤติกรรมช่วงกลางคืน
12. พฤติกรรมแปลก
เคล็ด (ไม่ลับ) ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม
1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ คิดเลข การพูดคุยพบปะผู้อื่นบ่อยๆ ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ/เข้าชมรมผู้สูงอายุ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
4. ตรวจสุขภาพประจำปี ถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ
5. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
6. กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ อาหารที่มีผักผลไม้ รวมทั้งกลุ่มวิตามินบี
ที่มา : คลินิกใบบุญ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์